ไขข้อสงสัย โครงสร้างเว็บไซต์คืออะไร? มีกี่แบบ? และโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีเป็นอย่างไร?
โครงสร้างเว็บไซต์นั้นไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ทำงานได้อย่างเป็นระบบ แต่ยังช่วยให้ผู้ใช้มีประสบการณ์การใช้งานที่ดี และยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณบรรลุเป้าหมายได้อีกด้วย ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นการขายสินค้า การสื่อสารข้อมูล หรือแม้แต่การทำการตลาดแบบ SEO เพื่อให้เว็บไซต์ของคนมีผู้เข้าชมเยอะ ๆ โครงสร้างเว็บไซต์นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณจะต้องทำความเข้าใจให้ละเอียด ในบทความนี้ เราจึงจะมาทำความรู้จักกับโครงสร้างเว็บไซต์ในขั้นพื้นฐานกันก่อน
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
โครงสร้างเว็บไซต์คืออะไร?
โครงสร้างเว็บไซต์ (Site Structure) คือแผนผังที่ใช้ในการจัดการส่วนประกอบและข้อมูลทั้งหมดของเว็บไซต์ให้เป็นโครงข่ายที่เป็นระเบียบแบบแผนและง่ายต่อการใช้งาน เช่น เว็บไซต์มีจำนวนเว็บเพจทั้งหมดกี่หน้า แต่ละหน้าเกี่ยวกับอะไร มีข้อมูลอะไรบ้าง และมีการเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร หรือกล่าวได้อีกอย่างคือ เป็นการจัดทำแผนผังเว็บไซต์ (Sitemap) นั่นเอง
โครงสร้างเว็บไซต์สำคัญยังไง?
โครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีจะทำให้เว็บไซต์ของเรามอบประสบการณ์การใช้งาน (User Experience) ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน โดยจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นอกจากการมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีแล้วยังมีข้อดีที่สำคัญอื่น ๆ อีกด้วย เช่น
ช่วยให้บริหารข้อมูลได้ง่าย
โครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีทำให้นักพัฒนาเว็บไซต์ทำงานได้อย่างเป็นระบบ จัดการเว็บเพจแต่ละหน้าได้เป็นหมวดหมู่ ทั้งยังทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์เข้าใจได้อย่างง่ายดายว่าหากต้องการข้อมูลอะไร จะต้องไปที่หน้าไหน และยังทำให้ Google Bot เข้าใจเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังทำให้การขยายเว็บไซต์ในอนาคตเป็นเรื่องง่าย เพราะหากจะเพิ่มเนื้อหาใหม่ ๆ ก็มีหมวดหมู่ที่ชัดเจนไว้สำหรับเชื่อมโยงเว็บเพจอยู่แล้วนั่นเอง
ช่วยเสริมประสิทธิภาพ SEO
เมื่อเว็บไซต์ของคุณมีโครงสร้างที่ดี เป็นระบบระเบียบ ไม่ยุ่งเหยิง ก็จะทำให้ง่ายต่อ Google Bot ในการเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อสำรวจเว็บไซต์ (Crawling) ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง โดยโครงสร้างเว็บไซต์ที่มีการเชื่อมต่อเว็บเพจอย่างเป็นระบบจะทำหน้าที่เสมือนป้ายบอกทางให้ Bot เข้ามาสำรวจและทำความเข้าใจได้สะดวก เมื่อเว็บของคุณมีโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดี ง่ายต่อการสำรวและง่ายต่อการเก็บข้อมูล ก็จะมีแนวโน้มที่จะได้รับการจัดอันดับสูง ๆ ในการทำ SEO นั่นเอง
โครงสร้างเว็บไซต์มีกี่แบบ?
1. โครงสร้างเว็บไซต์แบบเส้นตรง (Linear Structure)
จะนำเสนอเนื้อหาเป็นลำดับทีละหัวข้อ บางที่ก็เรียกว่า Sequential Structure หรือโครงสร้างแบบตามลำดับ เป็นโครงสร้างแบบธรรมดาที่นิยมใช้กันมาก เพราะเป็นโครงสร้างที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน มีการจัดลำดับการเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละหน้าแบบเป็นลำดับ เว็บไซต์ที่ใช้โครงสร้างประเภทนี้มักจะมีปุ่ม “เดินหน้า” หรือ “ถอยหลัง” เป็นเครื่องมือนำร่องในการเข้าชมเว็บไซต์ เหมาะกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอเป็นลำดับขั้น 1-2-3 ไปเรื่อยๆจนจบ
2. โครงสร้างเว็บไซต์แบบต้นไม้ (Hierarchical Structure)
เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างยอดนิยมที่ใช้กันอย่างกว้างขวางครับ ซึ่งสาเหตุที่มันเป็นที่นิยมก็เพราะว่ามันมีข้อดีคือ เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่มีขนาดเล็ก ๆ ไปจนถึงขนาดยักษ์ใหญ่อย่างพวกเว็บไซต์ E-commerce เลยทีเดียว โดยจะเน้นการจัดการเว็บเพจเป็นหมวดหมู่ให้เข้าถึงได้ง่ายนั่นเอง
3. โครงสร้างเว็บไซต์แบบเชื่อมโยงอิสระ (Web Linked Structure)
โครงสร้างแบบนี้จะเน้นการเชื่อมโยงทุกหน้าเข้าด้วยกัน ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทุกหน้าของเว็บไซต์ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่หน้าไหนก็ตาม โครงสร้างแบบนี้จึงมีรูปแบบที่ไม่ตายตัว จะเหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนหน้าไม่มาก เนื่องจากยิ่งมีเว็บเพจหลายหน้า การสำรวจเว็บไซต์ก็จะยิ่งซับซ้อนนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกัน ข้อดีก็คือ หากมีเว็บเพจไม่มาก ผู้ใช้ก็เข้าถึงทุกเพจได้สะดวก
4. โครงสร้างเว็บไซต์แบบผสม (Hybrid Structure)
สำหรับโครงสร้างแบบสุดท้ายนี้ก็อย่างที่ชื่อของมันบ่งบอกเลยล่ะครับ เป็นการนำโครงสร้างแบบอื่น ๆ มาผสมกัน แต่โดยทั่วไปจะยึดโครงสร้างแบบต้นไม้เป็นหลัก แล้วเชื่อมโยงเว็บเพจต่าง ๆ ด้วยรูปแบบของโครงสร้างอื่นอีกทีตามจุดประสงค์ที่ต้องการ เป็นการนำจุดเด่นของโครงสร้างแบบต้นไม้ที่จัดหมวดหมู่ได้เป็นระบบ ผสานการเชื่อมโยงที่ให้ผู้ใช้เข้าถึงเว็บเพจต่าง ๆ ได้อย่างลื่นไหล
โครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีเป็นอย่างไร?
มีการจัดหมวดหมู่เนื้อหาอย่างชัดเจน
ทั้งเว็บเพจแต่ละหน้า และเนื้อหาในแต่ละเพจ จะต้องมีการจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบอย่างชัดเจน เช่น หากเนื้อหาของเว็บเพจเป็นเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ก็ควรจัดไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา
มีลำดับชั้นในการเข้าถึงเนื้อหา
เป็นการไล่เรียงจัดลำดับเนื้อหาให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยจัดการเนื้อหาเป็นหัวข้อหลักเป็นกลุ่ม ๆ ไป แล้วแยกเป็นหัวข้อย่อยของแต่ละกลุ่ม ๆ ลึกลงไปตามความเฉพาะเจาะจงนั่นเอง เช่น เว็บไซต์ขายของจัดสินค้าแยกเป็นหมวดหมู่ จากนั้นแต่ละหมวดหมู่ก็จำแนกไปเป็นสินค้าของแต่ละแบรนด์ จากนั้นก็ซอยย่อยไปเป็นแต่ละรุ่น ๆ เป็นต้น
มีการเชื่อมโยงเว็บเพจที่เกี่ยวข้องกัน
เว็บเพจที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันควรมีการเชื่อโยงภายใน (Internal Link) ถึงกันและกัน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างตรงจุด
เห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่าโครงสร้างเว็บไซต์นั้นสำคัญขนาดไหน ทั้งต่อนักพัฒนาเว็บไซต์เอง หรือผู้ดูแลเว็บไซต์ แม้แต่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ ไปจนถึง Google Bot ทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบจากโครงสร้างกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นแล้ว หากคุณต้องการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ก็อย่ามองข้ามการวางโครงสร้างกันนะครับ หรือหากใครที่มีเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่ต้องการปรับโครงสร้างใหม่ให้เป็นระบบระเบียบ ก็สามารถใช้บริการของ 1001 Click ได้เลย เพราะเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการโครงสร้างเว็บไซต์ที่พร้อมให้คำปรึกษากับคุณอย่างมืออาชีพ โดยผู้ที่สนใจสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.1001click.com/ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
- สามารถติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาได้ที่ : 081 116 1001
- Line Id : 1001click
- Email : info@1001click.com