Phishing คืออะไร? รู้จักภัยร้ายจากอินเทอร์เน็ตพร้อมวิธีป้องกัน
ไม่ว่าคุณจะท่องโลกออนไลน์ด้วยอุปกรณ์ใด จะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรืออุปกรณ์อื่น ๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่แทบจะแยกออกจากอุปกรณ์เหล่านี้ไปไม่ได้เลยในยุคสมัยนี้ นั่นก็คืออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเพื่อการศึกษา เพื่อการงาน หรือเพื่อความบันเทิง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อินเทอร์เน็ตนั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ก็เปรียบดังเหรียญที่มีสองด้าน เมื่อมีด้านที่มีคุณประโยชน์ ก็ยังมีด้านที่ให้โทษอยู่ด้วย ซึ่งความอันตรายที่แฝงเร้นอยู่ในอินเทอร์เน็ตนั้นก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และหนึ่งในอาชญากรรมออนไลน์ที่พบได้บ่อยที่สุดในอินเทอร์เน็ตก็คือ Phishing นั่นเอง วันนี้เราจึงจะมาสำรวจไปด้วยกันว่า Phishing คืออะไร มีการทำงานอย่างไร และจะหลีกเลี่ยงมันได้อย่างไรบ้าง
Phishing คืออะไร?
Phishing คือ รูปแบบหนึ่งของอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่มุ่งเป้าไปที่การหลอกลวงเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน เช่น รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต เลขประจำตัวประชาชน และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ โดยผู้โจมตีมักจะส่งอีเมลหรือข้อความที่ดูเหมือนมาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคาร กรมสรรพากร หรือแบรนด์ใหญ่ ๆ เพื่อหลอกล่อให้ผู้รับกรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นความลับลงในเว็บไซต์ปลอม การโจมตีแบบนี้มีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น e-mail phishing, web phishing, และ spear phishing ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการและเป้าหมายที่แตกต่างกันไป
คำว่า Phishing นี้ก็มีที่มาจากคำว่า Fishing นั่นเอง ซึ่งก็เปรียบเปรยถึงการที่เอาเหยื่อล่อมาวางไว้ให้ปลามากินเบ็ด โดย Phishing คือการโจมตีทางไซเบอร์ที่พบได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน เราจึงต้องมีความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะการโจมตีประเภทนี้มีการใช้กลยุทธทางจิตวิทยาเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อได้ง่าย และพบได้ในทุกแพลตฟอร์ม Social Media ที่เรา ๆ ใช้กันอยู่ทุกวัน มักจะมาในรูปแบบของข้อความแจ้งเตือน หากไม่ทำตามจะมีโทษปรับ หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งความเร่งรีบนี้ก็เป็นการกดดันให้เราไม่มีเวลาคิดสงสัย ทั้งยังแอบอ้างว่ามาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ จึงทำให้หลงเชื่อได้ง่าย
Phishing มีกี่ประเภท?
ที่จริงแล้ว การโจมตีทางไซเบอร์ประเภท Phishing นั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาและผ่านไปเร็วมาก เหล่ามิจฉาชีพจึงคิดกลอุบายใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ แต่วันนี้เราจะพาไปสำรวจการ Phishing เฉพาะที่พบกันได้บ่อย อันได้แก่
1. Email Phishing
Email Phishing คือการส่งอีเมลเพื่อหลอกลวงผู้รับให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อน เช่น ข้อมูลการเข้าสู่ระบบ รายละเอียดบัญชีธนาคาร หรือรหัสผ่านต่าง ๆ โดยผู้โจมตีมักจะปลอมแปลงอีเมลให้ดูเหมือนมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคารหรือบริษัทที่คุณคุ้นเคย เพื่อให้คุณกรอกข้อมูลสำคัญลงในเว็บไซต์ปลอมที่ลิงก์ไปจากอีเมลฉบับนั้น ๆ มีการหลอกลวงรูปแบบนี้มายาวนานตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่มีอีเมลเลยทีเดียว และเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดอีกด้วย
2. Spear Phishing
Spear Phishing คือการล่อลวงทางไซเบอร์ที่เจาะจงเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลหรือองค์กร โดยผู้โจมตีจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลภายในองค์กรที่ได้มาอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อสร้างข้อความหลอกลวงที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งมักจะทำงานผ่านทางอีเมลที่ดูเหมือนจะมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อหลอกให้ผู้รับเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินนั่นเอง
3. Whaling
Business Email Compromise (BEC) หรือเรียกอีกอย่างว่า Whaling phishing คือการโจมตีทางไซเบอร์ที่มุ่งเป้าไปที่บุคคลในตำแหน่งสูง ๆ ขององค์กร เช่น CEO หรือ CFO เพื่อขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและอาจนำไปสู่ความสูญเสียทางการเงินอย่างร้ายแรง การโจมตีเหล่านี้มักใช้ข้อมูลสาธารณะเพื่อสร้างข้อความหลอกลวงที่น่าเชื่อถือ และอาจใช้เทคนิค Social Engineering หรือการปลอมแปลงอีเมลเพื่อหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลหรืออนุมัติการโอนเงินที่ไม่ได้รับอนุญาต
4. Vishing
Vishing หรือ Voice phishing คือรูปแบบหนึ่งของการหลอกลวงทางไซเบอร์โดยใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือในการขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงินจากเหยื่อ โดยทั่วไป ผู้โจมตีจะแอบอ้างเป็นตัวแทนจากองค์กรที่มีชื่อเสียง เช่น ธนาคารหรือบริษัทต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลที่ต้องการ
5. Pharming
Pharming เป็นประเภทของการโจมตีทางไซเบอร์ที่ใช้เทคนิค Social engineering เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้เข้าเว็บไซต์ปลอมแปลง โดยมักจะเปลี่ยนแปลงไฟล์โฮสต์หรือ DNS เพื่อเปลี่ยนเส้นทางของผู้ใช้ วิธีนี้ทำให้ผู้โจมตีสามารถขโมยข้อมูลส่วนบุคคลหรือรายละเอียดทางการเงินได้
6. Clone Phishing
Clone Phishing คือชนิดหนึ่งของการล่อลวงทางไซเบอร์ที่ผู้โจมตีจะเลียนแบบอีเมลมาเพื่อกระจายมัลแวร์ โดยทั่วไปแล้ว ผู้โจมตีจะดักจับข้อความและแก้ไขเนื้อหาก่อนจะส่งต่อไปยังเหยื่อ อีเมลต้นฉบับจะถูกโคลนและมีการแนบไฟล์หรือลิงก์ที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจจะแทนที่ไฟล์หรือลิงก์เดิมก่อนหน้านี้ ถือเป็นการโจมตีที่อันตรายมาก เพราะจะดูเหมือนมาจากองค์กรหรือธุรกิจที่เชื่อถือได้จริง ๆ
แนวทางการป้องกันและหลีกเลี่ยง Phishing
การป้องกันและหลีกเลี่ยงภัยคุกคามจาก Phishing นั้นสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการตรวจสอบชื่อ อีเมลผู้ส่ง และไม่คลิกลิงก์หรือโหลดไฟล์จากอีเมลหรือข้อความที่น่าสงสัย นอกจากนี้ควรอัพเดตซอฟต์แวร์ป้องกันมัลแวร์อย่างสม่ำเสมอ การใช้โปรแกรมจัดการรหัสผ่านที่มีคุณภาพก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเรา อย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องของเว็บไซต์ที่คุณเยี่ยมชม ทางที่ดีหากได้รับอีเมล Phishing คือย้ายอีเมลฉบับนั้น ๆ ไปที่โฟลเดอร์ Junk แล้ว Mark as phishing ได้เลย สุดท้าย หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
อ่านมาถึงจุดนี้ ทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่า Phishing คือภัยคุกคามที่อันตรายมากขนาดไหน รู้อย่างนี้แล้ว เวลาที่ได้รับอีเมลหรือข้อความแจ้งเตือนอะไรที่น่าสงสัยก็ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า ต้องมีสติเป็นอันดับแรก แล้วค่อย ๆ ตรวจสอบดูให้ละเอียดถึงที่มาที่ไป หากยังสงสัยก็ให้โทรฯไปเช็คเรื่องราวกับต้นสังกัดด้วยเบอร์โทรอย่างเป็นทางการเท่านั้น แม้ว่า Phishing คือภัยคุกคามที่มีหลากหลายรูปแบบ แต่หากเราใช้อินเทอร์เน็ตด้วยความระมัดระวัง และทำตามแนวทางข้างต้น เท่านี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวงกันได้แล้วล่ะครับ
- Line ID: 1001click
- Tel: 081 116 1001
- E-mail: info@1001click.com